EP 12: แวะเล่าเรื่อง: Julius Caesar รัฐบุรุษผู้คิดค้นการเข้ารหัสแห่งจักรวรรดิโรมัน
EP 12: แวะเล่าเรื่อง: Julius Caesar รัฐบุรุษผู้คิดค้นการเข้ารหัสแห่งจักรวรรดิโรมัน
เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงเคยได้ยินชื่อของ “จูเลียส ซีซาร์” กันมาบ้างไม่มากก็น้อย ในแง่มุมตั้งแต่ความสามารถทางการรบไปจนถึงตำนานความรัก แม้กระทั่งเอาไปเชื่อมโยงเป็นซีซาร์สลัดก็มี (จริง ๆ แล้วไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ เลย) แต่สิ่งที่คุณอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อน ก็คือ นอกจาก จูเลียส ซีซาร์ จะเป็นนักรบผู้น่าเกรงขามแห่งโรมัน เป็นรัฐบุรุษคนสำคัญผู้ทำให้อาณาจักรโรมยิ่งใหญ่มีชื่อเสียง เป็นผู้ประพันธ์ร้อยแก้วอันเลื่องชื่อชาวโรมัน และเขาก็ยังเป็นผู้ใช้ ศาสตร์ “Cryptography” ในการเข้ารหัสลับเพื่อใช้ส่งสารในกองทัพของเขา ในระหว่างการทำศึกสงคราม เพื่อป้องกันไม่ให้ศัตรูสามารถอ่านข้อความในสารรบนั้นได้หากสารนั้นถูกแย่งชิงไปอีกด้วย
ใน EP นี้เราจะพาไปดูกันว่า จูเลียส ซีซาร์ ใช้วิธีใดในการเข้ารหัสข้อความของกองทัพที่แข็งแกร่งจนสามารถตีชนะยึดเมืองมากกว่า 800 เมืองตั้งแต่ยุโรปตอนเหนือจนถึงยุโรปตอนใต้ จากสเปนไปเอเชียน้อย และไปจนถึงอียิปต์ได้
การเข้ารหัสที่ จูเลียส ซีซาร์ นำมาใช้ เป็นที่รู้จักกันในนามว่า “Shift Cipher Caesar’s Code” หรือ “Caesar Shift” หรือเราจะเรียกรวม ๆ เป็น “Caesar Cipher” ก็ได้ เป็นการเข้ารหัสแบบ Substitution Cipher (การเข้ารหัสโดยการแทนที่ตัวอักษร) โดยการแทนที่ตัวอักษรเดิมด้วยตัวอักษรตัวอักษรตัวที่ 3 นับจากตัวมัน เช่น A จะเเทนด้วย D , B จะเเทนด้วย E , C จะเเทนด้วย F , X จะเเทนด้วย A , Y จะเเทนด้วย B และ Z จะเเทนด้วย C เป็นต้น หรือเป็นการเลื่อนไป 3 ตำแหน่งจากตำแหน่งเดิม (Shiftment, n=3) หากเราทดลองเข้ารหัสแบบ Caesar Cipher Left Shift of 3 (เลื่อนทางซ้าย 3 ตำแหน่ง) จากคำว่า “HASHPIRE” จะเข้ารหัสได้เป็น “KDVKSLUH”
ในเวลาต่อมา Augustus ผู้ซึ่งเป็นหลานของ Julius Caesar ได้มีการเปลี่ยนสูตรการเข้ารหัสจากเดิม มาเป็นการแทนที่ตัวอักษรเดิมด้วยตัวอักษรตัวที่ 1 ไม่นับรวมตัวมัน เช่น A จะเเทนด้วย B และ B จะเเทนด้วย C เป็นต้น หรือเป็นการเลื่อนไป 1 ตำแหน่งจากตำแหน่งเดิม (Shiftment, n=1)
เป็นอย่างไรกันบ้าง สำหรับการเข้ารหัสแบบ Caesar Cipher ที่เรานำมาเล่ากันใน EP นี้
อันที่จริงแล้วเราไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่าการเข้ารหัสแบบ Caesar Cipher ในขณะนั้นมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด เนื่องจากฝ่ายศัตรูของ จูเลียส ซีซาร์ นั้นไม่รู้หนังสือ และแม้ว่าจะมีคนที่รู้หนังสือ ก็จะสันนิษฐานว่าข้อความเหล่านั้นเขียนด้วยภาษาต่างประเทศที่พวกเขาไม่รู้จัก ส่วนในด้านอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ก็คือนอกเหนือการใช้ในสนามรบแล้ว การเข้ารหัสแบบ Caesar Cipher ยังเคยถูกคู่รักคู่หนึ่งใช้เพื่อเข้ารหัสข้อความบนหนังสือพิมพ์ The Times เพื่อส่งข้อความหากันอีกด้วย และยังมีเหตุการณ์ที่ Rajib Karim ถูกตัดสินลงโทษในสหราชอาณาจักรใน “ความผิดฐานก่อการร้าย” หลังจากเขาใช้รหัสซีซาร์ เพื่อสื่อสารกับนักเคลื่อนไหวอิสลาม ชาวบังกลาเทศ เพื่อพูดคุยถึงแผนการที่จะระเบิดเครื่องบินบริติชแอร์เวย์หรือรบกวนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของพวกเขา จนในปัจจุบันนี้ Caesar Cipher ยังถูกนำมาทำเป็นของเล่นสำหรับเด็ก เช่น วงแหวนถอดรหัสลับ (Secret Decoder Rings) เป็นต้น
References